วันอาทิตย์ที่ 13 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2554

นาฏศิลป์

นาฏศิลป์

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
การแสดงนาฏศิลป์ไทย มีท่ารำที่อ่อนช้อยและเป็นเอกลักษณ์แตกต่างกันไปตามลักษณะประจำถิ่น
นาฏศิลป์ หมายถึงศิลปะการแสดงประกอบดนตรีเช่น ฟ้อน รำ ระบำ โขน แต่ละท้องถิ่นจะมีชื่อเรียกและมีลีลาท่าการแสดงที่แตกต่างกันไป สาเหตุหลักมาจากภูมิอากาศ ภูมิประเทศของแต่ละท้องถิ่น ความเชื่อ ศาสนา ภาษา นิสัยใจคอของผู้คน ชีวิตความเป็นอยู่ แต่ละภาคมีรายละเอียดดังต่อไปนี้

ภาคเหนือ

ภาคนี้มีการแสดงหรือการร่ายรำที่มีจังหวะช้า ท่าหยาบนุ่มนวล เพราะมีอากาศเย็นสบาย ทำให้จิตใจของผู้คนมีความนุ่มนวล อ่อนโยน ภาษาพูดก็นุ่มนวลไปด้วย เพลงมีความไพเราะ อ่อนหวาน ผู้คนไม่ต้องรีบร้อนในการทำมาหากิน สิ่งต่างๆ เหล่านั้นมีอิทธิพลต่อการแสดงนาฏศิลป์ของภาคเหนือ
นาฏศิลป์ของภาคเหนือเช่น ฟ้อนเมือง(ฟ้อนเล็บ ฟ้อนก๋ายลาย)ฟ้อนเทียน ฟ้อนจ้อง ฟ้อนวี ฟ้อนขันดอก ฟ้อนดาบ ฟ้อนเชิง(ฟ้อนเจิง)ตีกลองสะบัดไชย ฟ้อนสาวไหม ฟ้อนน้อยไจยา ฟ้อนหริภุญชัย ฟ้อนล่องน่าน ฟ้อนแง้น เป็นต้น นอกจากนี้ นาฏศิลป์ของภาคเหนือยังได้รับอิทธิพลจากประเทศใกล้เคียง ได้แก่ พม่า ลาว จีน และวัฒนธรรมของชนกลุ่มน้อย เช่น ไทยใหญ่ เงี้ยว ชาวไทยภูเขา ยอง เป็นต้น
ดังนั้น นาฏศิลป์พื้นเมืองของภาคเหนือนอกจากมีของที่เป็น "คนเมือง" แท้ๆ แล้วยังมีนาฏศิลป์ที่ผสมกลมกลืนกับชนชาติต่างๆ และของชนเผ่าต่างๆ อีกหลายอย่าง เช่น อิทธิพลจากพม่า เช่น ฟ้อนกำเบ้อ ฟ้อนม่านมุ้ยเชียงตา นาฏศิลป์ของชนเผ่าต่างๆ เช่น ฟ้อนนก (กิงกาหล่า - ไทยใหญ่) ฟ้อนเงี้ยว (เงี้ยว) ระบำซอ ระบำเก็บใบชา(ชาวไทยภูเขา) ฟ้อนไต ฟ้อนไตอ่างขาง ฟ้อนนกยูง เป็นต้น

ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

ภาคนี้โดยทั่วไปมักเรียกว่าภาคอีสาน ภาคอีสาน ภูมิประเทศภาคอีสานเป็นที่ราบสูง ค่อนข้างแห้งแล้งเพราะพื้นดินไม่เก็บน้ำ ฤดูแล้งจะกันดาร ฤดูฝนน้ำจะท่วม แต่ชาวอีสานก็มีอาชีพทำไร่ทำนา และเป็นคนรักสนุกและขยัน อดทน คนอีสานมักไปขายแรงงานในท้องที่ภาคกลางหรือภาคใต้
เพลงพื้นเมืองอีสานจึงมักบรรยายความทุกข์ ความยากจน ความเหงา ที่ต้องจากบ้านมาไกล ดนตรีพื้นเมืองแต่ละชิ้นเอื้อต่อการเล่นเดี่ยว การจะบรรเลงร่วมกันเป็นวงจึงต้องทำการปรับหรือตั้งเสียงเครื่องดนตรีใหม่เพื่อให้ได้ระดับเสียงที่เข้ากันได้ทุกครั้ง แต่อย่างไรก็ตาม คนอีสานก็พยายามหาความบันเทิงในทุกโอกาส เพื่อผ่อนคลายความไม่สบายใจหรือสภาพความทุกข์ยากอันเนื่องจากสภาพธรรมชาติ เครื่องดนตรีพื้นเมืองอีสาน เช่น พิณ แคน โหวด โปงลาง หืน ซอ ปี่ไม้ซาง กลองตุ้ม กลองยาว เป็นต้น ทำนองเพลงพื้นเมืองอีสานมีทั้งทำนองที่เศร้าสร้อยและสนุกสนาน เพลงที่มีจังหวะเร็วนั้นถึงจะสนุกสนานอย่างไรก็ยังคงเจือความทุกข์ยากลำบากในบทเพลงอยู่เสมอ ทำนองเพลงหรือทำนองดนตรีเรียกว่า “ลาย” เช่น ลายแม่ฮ้างกล่อมลูก ลายนกไส่บินข้ามท่ง ลายลมพัดพร้าว ลายน้ำโตนตาด เป็นต้น
การขับร้องเรียกว่า “ลำ” ผู้ที่มีความชำนาญในการลำเรียกว่า “หมอลำ” ลำมีหลายประเภท เช่น ลำกลอน ลำเพลิน ลำเรื่องต่อกลอน ลำผญา(ผะหยา) ลำเต้ย เป็นต้น ส่วนบทเพลงหรือลายบรรเลงก็มาจากภูมิปัญญาชาวที่มีความเชี่ยวชาญทางด้านดนตรีโปงลาง เช่นอาจารย์ทรงศักดิ์ ปทุมสิน ซึ้งเป็นผู้เชี่ยวทางด้านโหวด และอาจารย์ทองคำ ไทยกล้า เป็นผู้เชี่ยวชาญทางด้าน แคน
 ภาคใต้
ภาคใต้ เป็นดินแดนที่ติดทะเลทั้งฝั่งตะวันตกและตะวันออก ทางด้านใต้ติดกับมลายู ทำให้รับวัฒนธรรมของมลายูมาบ้าง ขนบประเพณีวัฒนธรรมและบุคลิกบางอย่างคล้ายคลึงกัน คือ พูดเร็ว อุปนิสัยว่องไว ตัดสินใจ รวดเร็ว เด็ดขาด การแต่งกาย การแสดง เพลง และดนตรีคล้ายคลึงกันมาก นาฏศิลป์ของชาวไทยภาคใต้ แบ่งออกเป็น 2 รูปแบบ คือการแสดงพื้นบ้านและระบำพื้นบ้าน การแสดงพื้นบ้าน สามารถแบ่งออกออกตามลักษณะของพื้นที่ ดังนี้
  1. พื้นที่ ภาคใต้ตอนบน ได้แก่ โนรา เพลงบอก เพลงเรือ คำตัก เพลงชาน้อง
  2. พื้นที่ ภาคใต้บริเวณลุ่มนำทะเลสาบสงขลา ได้แก่ โนรา หนังตะลุง กาหลอ โต๊ะครึม(นายลิมนต์) เพลงเรือ
  3. พื้นที่ ชายฝั่งทะเลอันดามัน ลิเกป่า รองเง็งชาวเล รองเง็งตันหยง กาบง กาหยง ดาระ
  4. พื้นที่ภาคใต้ตอนล่าง รองเง็งปัตตานี ดิเกร์ฮูลู ซีละ มะโย่ง(บือดีกา) บานอ กรือโต๊ะ ตือตรี
ส่วนระบำพื้นบ้าน ได้แก่ ตารีกีปัส ระบำร่อนแร่ ระบำกรีดยาง เป็นต้น

ภาคกลาง

ภาคกลางได้ชื่อว่าอู่ข้าวอู่น้ำของไทย มีภูมิประเทศเป็นที่ราบลุ่ม มีแม่น้ำหลายสาย เหมาะแก่การกสิกรรม ทำนา ทำสวน ผู้คนมีความเป็นอยู่ที่สุขสบาย จึงมีเวลาที่จะคิดประดิษฐ์หรือสร้างสรรค์สิ่งที่สวยงามได้มาก และมีการเล่นรื่นเริงในโอกาสต่างๆ มากมาย ทั้งตามฤดูกาล ตามเทศกาลและตามโอกาสที่มีงานรื่นเริง ภาคกลางเป็นที่รวมของศิลปวัฒนธรรม การแสดงจึงมีการถ่ายทอดสืบต่อกันและพัฒนามาเรื่อยๆ